ข้อมูลพื้นฐานราชอาณาจักรกัมพูชา (
Kingdom of Cambodia)
ลักษณะภูมิประเทศ
ที่ตั้ง กัมพูชาตั้งอยู่กลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนทิศเหนือติดกับ ประเทศไทย (จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์) และลาว (แขวง อัตตะปือและจำปาสัก) ทิศตะวันออกติดเวียดนาม (จังหวัดกอนทูม เปลกู ซาลาย ดั๊กลั๊ก ส่องแบ๋ เตยนิน ลองอาน ด่งท๊าบ อันซาง และเกียงซาง) ทิศตะวันตกติดประเทศไทย (จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และตราด) และทิศใต้ติดอ่าวไทย
ขนาด กว้าง 500 กิโลเมตร ยาว 450 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 181,035 ตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศไทย เส้นเขตแดนโดยรอบประเทศยาวประมาณ 2,000 กิโลเมตร โดยมีเส้นเขตแดนติดต่อกับประเทศไทยยาว 798 กิโลเมตร
แม่น้ำ/ทะเลสาบสำคัญ ได้แก่ (1) แม่น้ำโขง ไหลจากลาวเข้าสู่ภาคเหนือของกัมพูชาแล้วไหลผ่านเข้าเขตเวียดนาม มีความยาวในเขตกัมพูชารวม 500 กิโลเมตร (2) แม่น้ำทะเลสาบ เชื่อมระหว่างแม่น้ำโขงกับทะเลสาบ ความยาว 130 กิโลเมตร (3) แม่น้ำบาสัก (Bassac) เชื่อมต่อกับแม่น้ำทะเลสาบที่หน้าพระมหาราชวัง กรุงพนมเปญ ความยาว 80 กิโลเมตร (4) ทะเลสาบ (Tonle Sap) เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ 3,000 ตารางกิโลเมตร
สภาพภูมิอากาศ ร้อนชื้น มีฤดูฝนยาวนาน อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 20 - 36 องศาเซลเซียส
เมืองหลวง กรุงพนมเปญ (Phnom Penh)
เขตการปกครอง มี 4 กรุง ได้แก่ กรุงพนมเปญ กรุงไพลิน กรุงแกบ กรุงพระสีหนุ และ 20 จังหวัด ได้แก่ กระแจะ เกาะกง กันดาล กัมปงจาม กัมปงชนัง กัมปงทม กัมปงสะปือ กัมปอต ตาแก้ว รัตนคีรี พระวิหาร พระตะบอง โพธิสัต บันเตียเมียนเจย เปรเวง มณฑลคีรี สตึงเตรง สวายเรียง เสียมราฐ อุดรมีชัย
ประชากร 13.6 ล้านคน ประกอบด้วยชาวเขมรร้อยละ 94 ชาวจีนร้อยละ 4 และอื่น ๆ อีกร้อยละ 2 มีอัตราการเพิ่มของประชากรเฉลี่ยร้อยละ 1.7 ต่อปี
ธงชาติ เป็นธงที่เคยใช้ก่อนวันที่ 18 มีนาคม 2513 มีแถบสีน้ำเงิน แดง น้ำเงินตามแนวนอน โดยมีรูปปราสาทนครวัดสามยอดสีขาวอยู่ตรงกลางบนแถบสีแดง
เพลงชาติ เพลงนาคราช (Nokoreach)
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
กษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี (His Majesty Preah Bat Samdech Preah Boromneath Norodom Sihamoni) เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547
ประธานสภาแห่งชาติ สมเด็จเฮง สัมริน (Samdech Heng Samrin)
นายกรัฐมนตรี สมเด็จฮุน เซน (Samdech Hun Sen)
โครงสร้างการบริหาร ประกอบด้วยกระทรวงหลัก 26 กระทรวง ได้แก่ (1) สำนักนายกรัฐมนตรี (2) กลาโหม (3) มหาดไทย (4) ประสานงานกับรัฐสภาและการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ (5) การต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ (6) เศรษฐกิจและการคลัง (7) ข่าวสาร (8) สาธารณสุข (9) อุตสาหกรรม เหมืองแร่ และพลังงาน (10) วางแผน (11) พาณิชย์ (12) ศึกษาธิการ เยาวชน และการกีฬา (13) เกษตร ป่าไม้ และการประมง (14) วัฒนธรรมและศิลปากร (15) สิ่งแวดล้อม (16) พัฒนาชนบท (17) แรงงานและการฝึกฝนอาชีพ (18) ไปรษณีย์และโทรคมนาคม (19) ศาสนา (20) กิจการสตรี (21) กิจการสังคมและทหารผ่านศึก (22) โยธาธิการและการขนส่ง (23) ยุติธรรม (24) การท่องเที่ยว (25) พัฒนาผังเมืองและการก่อสร้าง (26) ชลประทาน และอีก 2 สำนักงานอิสระ (เทียบเท่าทบวง) ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนและสำนักงานข้าราชการพลเรือน
พรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian Peoples Party - CPP) พรรคฟุนซินเปค (FUNCINPEC หรือ Front Uni National pour un Cambodge Indépendant, Neutre, Pacifique, et Coopératif) และพรรคสม รังสี (Sam Rainsy Party - SRP)
ภาษา ภาษาเขมรเป็นภาษาราชการ ส่วนภาษาที่ใช้โดยทั่วไป ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เวียดนาม จีน และไทย
ศาสนา ศาสนาประจำชาติคือศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท (แยกเป็น 2 นิกายย่อย คือ ธรรมยุตินิกายและมหานิกาย) และศาสนาอื่นๆ อาทิ ศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์
หน่วยเงินตรา เงินเรียล (Riel) อัตราแลกเปลี่ยน 4,100 เรียลเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 100 เรียล
เท่ากับ 1 บาท
รายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP per capita) 320 ดอลลาร์สหรัฐ
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 7.7
อุตสาหกรรม สิ่งทอ สินค้าเกษตรแปรรูป การท่องเที่ยว
ตลาดนำเข้า ไทย (25.7%) สิงคโปร์ (17.6%) จีน (12.5%) ฮ่องกง (11.3%) ไต้หวัน (8.8%)
ตลาดส่งออก สหรัฐฯ (60.2 %) เยอรมนี (9.1%) สหราชอาณาจักร (7.1%) สิงคโปร์ (4.4%)
คนไทยในกัมพูชา 658 คน (จำนวนคนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร)
การลงทุนของไทยในกัมพูชา สูงเป็นลำดับ 9 ได้แก่ โทรคมนาคม การขนส่ง โรงแรมและการท่องเที่ยว การเกษตร โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ
สินค้าที่ไทยส่งออกไปกัมพูชา สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง เครื่องดื่มและเครื่องดื่มบำรุงกำลัง
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากกัมพูชา เหล็ก เหล็กกล้า ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์จากไม้ สินค้ากสิกรรม สินค้าประมงและปศุสัตว์ สิ่งทอ
ระบบคมนาคม
ทางรถไฟ มีเส้นทางรถไฟสำคัญ 2 สาย ได้แก่ กรุงพนมเปญ ศรีโสภณ และกรุงพนมเปญ กัมปงโสม มีความยาวรวมทั้งสิ้น 702 กิโลเมตร
ทางรถยนต์ มีความยาวรวมกัน 14,790 กิโลเมตร แต่อยู่ในสภาพใช้การได้ดีเพียง 2,600 กิโลเมตร เส้นทางสำคัญ ได้แก่ (1) เส้นทางหมายเลข 1 กรุงพนมเปญ บ๋าแว็ต (ชายแดนเวียดนาม) ระยะทาง 165 กิโลเมตร (ซึ่งต่อไปถึงนครโฮจิมินห์ของเวียดนามอีก 68 กิโลเมตร) (2) เส้นทางหมายเลข 4 กรุงพนมเปญ กรุงพระสีหนุ (กัมปงโสม) ระยะทาง 246 กิโลเมตร (3) เส้นทางหมายเลข 5 กรุงพนมเปญ ปอยเปต ระยะทาง 402 กิโลเมตร (4) เส้นทางหมายเลข 6 เสียมราฐ ศรีโสภณ ระยะทาง 106 กิโลเมตร
ทางน้ำ มีท่าเรือระหว่างประเทศที่กรุงพนมเปญและกรุงพระสีหนุ (กัมปงโสม) และมี เส้นทางเดินเรือภายในประเทศตามลำแม่น้ำโขง แม่น้ำทะเลสาบ และแม่น้ำบาสัก
ทางอากาศ มีท่าอากาศยานที่สำคัญ 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานนานาชาติโปเชนตง กรุงพนมเปญ และท่าอากาศยานเมืองเสียมราฐ กับมีท่าอากาศยานสำรองเพื่อการขนส่งสินค้าที่จังหวัดกำปงชนัง และท่าอากาศยานขนาดเล็กที่กรุงพระสีหนุ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ เลขที่ 196, Preah Norodom Boulevard, Sangkat Tonle Bassac, Khan Chamcar Mon, Phnom Penh หมายเลขโทรศัพท์ (855) 23 726 306 - 10 (สายอัตโนมัติ) หมายเลขโทรสาร (855) 23 726 303 E-mail : thaipnp@mfa.go.th Website : http://www.thaiembassy.org/phnompenh
สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย 185 ถนนราชดำริ ลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2253-7967, 0-2253-9851, 0-2254-6630 หมายเลขโทรสาร 0-2253-9859 E-mail : recbkk@cscoms.com
วันชาติกัมพูชา 9 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันได้รับเอกราชเมื่อปี ค.ศ. 1953
การเมืองการปกครอง
1. กัมพูชามีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งนี้ นับจากการ เลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2536 การเมืองของกัมพูชามีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง
2. ระบอบประชาธิปไตยของกัมพูชาในปัจจุบันมีความก้าวหน้าและหยั่งรากลึกลงในสังคมของกัมพูชาอย่าง ค่อยเป็นค่อยไป ฝ่ายต่าง ๆ มีอิสระในการแสดงความเห็นและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น ประชาชนมีความกระตือรือร้นในการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
3. รัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ รวมถึงการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การบริหารราชการแผ่นดิน ระบบศาลยุติธรรมและกฎหมาย การทหาร เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้การดำเนินงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพ สามารถใช้งบประมาณและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างคุ้มค่า ตลอดจนสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชนบทและห่างไกลความเจริญได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างแท้จริง ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชาได้ดำเนินการปฏิรูปในสาขาต่าง ๆ อาทิ การลดจำนวนข้าราชการทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร การปฏิรูปด้านการศาล การปรับปรุงระเบียบและแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังและไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศ การปฏิรูปที่ดินและการเร่งออกเอกสารสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน การส่งเสริมการศึกษาและฝึกฝนอาชีพ การปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ อย่างเป็นระบบ การพัฒนาระบบชลประทานและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ โดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อรองรับการพัฒนาด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว เป็นต้น
เศรษฐกิจและสังคม
1. กัมพูชายังถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่มีความยากจนมากประเทศหนึ่ง ดังนั้น รัฐบาลกัมพูชาจึงให้ความสำคัญอย่างสูงสุดต่อการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศเพื่อมุ่งขจัดความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทให้ดีขึ้น ปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชาอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามแผนพัฒนายุทธศาสตร์แห่งชาติ (National Strategic Development Plan - NSDP) ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2549 - 2553 ยุทธศาสตร์ลดความยากจนแห่งชาติ (National Poverty Reduction Strategy - NPRS) รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ (Cambodias Millennium Development Goals - CMDGs) ซึ่งล้วนแล้วแต่มีจุดมุ่งหมายให้กัมพูชาก้าวเดินไปสู่การพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าที่มั่นคงและยั่งยืน
2. รัฐบาลปัจจุบันซึ่งนำโดยสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายและประกาศใช้ยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยม (จัตุโกณ) เพื่อการเจริญเติบโต การจ้างงาน ความเสมอภาคและประสิทธิภาพในกัมพูชา (Rectangular Strategy for Growth, Employment, Equity and Efficiency in Cambodia) ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
นโยบายต่างประเทศ
กัมพูชายึดถือการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดตามที่ได้ประกาศไว้ต่อสภาแห่งชาติ ภายหลังจากเหตุการณ์ความวุ่นวายในประเทศสงบลงกัมพูชาเริ่มแสวงหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อเพิ่มบทบาทของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ ได้แก่
1. การเพิ่มบทบาทในสหประชาชาติ อาทิ การสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ การต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของประชาคมโลก การแก้ไขปัญหาโรคเอดส์และโรคระบาดต่างๆ นอกจากนี้ กัมพูชายังมองว่าสหประชาชาติเป็นองค์กรสำคัญ ที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาและแก้ไขปัญหาภายในกัมพูชา เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินการตามแผนพัฒนา ยุทธศาสตร์แห่งชาติ (National Strategic Development Plan - NSDP) ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2549 2553 บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
2. การเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ทั้งในกรอบทวิภาคี
และพหุภาคี โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศในเชิงบวกในสายตาของนานาประเทศ และการแสวงหาประโยชน์ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความช่วยเหลือ เพื่อการพัฒนา การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ การพัฒนาด้านการศึกษา และการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา
ความสัมพันธ์ทั่วไป
ปัจจุบัน
ความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชานับได้ว่ามีพัฒนาการที่ก้าวหน้าและดำเนินไปบนพื้นฐานของความเข้าอกเข้าใจกัน โดยมีกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เป็นพลังขับเคลื่อนความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันได้แก่ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy - ACMECS) กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region - GMS) กรอบความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกต มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย - กัมพูชา (ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2546) ที่เมืองเสียมราฐและจังหวัดอุบลราชธานี (ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นคืนความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชาให้กลับคืนสู่ภาวะปกติอย่างสมบูรณ์แบบภายหลังการเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546) และมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - กัมพูชา ครั้งที่ 5 ที่กรุงพนมเปญ (ระหว่างวันที่ 7 - 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549) นอกจากนี้ ยังมีกลไกความร่วมมืออีกมากทั้งในระดับรัฐบาลและระดับท้องถิ่นซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชาที่สำคัญในปัจจุบันและถือเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศได้แก่ การจัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 55 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - กัมพูชา (ระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2548 - 19 ธันวาคม พ.ศ. 2549) โดยมีกิจกรรมที่ทั้งสองฝ่ายฉลองร่วมกันกว่า 40 โครงการ ซึ่งหลายโครงการได้ดำเนินการลุล่วงไปแล้วและประสบความสำเร็จด้วยดี
ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ผู้นำไทยกับกัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ความร่วมมือระหว่างสองประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่นและสามารถแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สำหรับความร่วมมือที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่
การสำรวจและปักปันเขตแดนทางบกไทย - กัมพูชา ไทยกับกัมพูชามีพรมแดนทางบกติดต่อกันประมาณ 798 กิโลเมตร มีหลักเขตทั้งสิ้น 73 หลักเขต โดยมีคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมและ คณะอนุกรรมการเทคนิคร่วมเป็นกลไกสำคัญที่กำกับดูแลภารกิจการสำรวจปักปันและแก้ไขปัญหาเขตแดน ทางบก ขณะนี้ มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเขตแดนทางบกโดยสองฝ่ายจะเริ่มสำรวจเส้นเขตแดนบริเวณ หลักเขตที่ 48 - 49 ในจังหวัดสระแก้ว ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 และจะทยอยสำรวจและปักปันเขตแดน ที่เหลือต่อไป นอกจากนี้ รัฐบาลไทยกับกัมพูชายังสนับสนุนให้มีการแก้ไขปัญหาพื้นที่ไหล่ทวีปที่ทั้งสองฝ่าย อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันเพื่อให้สามารถแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในทะเลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปัญหาที่เกิดขึ้น อาทิ มีการปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำเขตแดนหรือปรับสภาพภูมิประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ใดๆ ในพื้นที่ที่ยังขาดความชัดเจนในเรื่องเส้นเขตแดน มีส่วนสำคัญในการทำลายสันปันน้ำและสภาพภูมิประเทศตามธรรมชาติของเส้นเขตแดน และมักเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งและไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างสองประเทศ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา เพื่อให้มีการปฏิบัติตามความตกลงร่วมกัน
ความร่วมมือชายแดน ปัจจุบันไทยกับกัมพูชามีจุดผ่านแดนถาวรระหว่างกัน 6 จุด และจุดผ่อนปรนอีก 9 จุด เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการสัญจรข้ามแดนระหว่างประชาชนทั้งสองฝ่ายบนพื้นฐานของความตกลงสัญจรข้ามแดนไทย - กัมพูชา ปี 2540 ซึ่งกำหนดให้ผู้สัญจรข้ามแดนต้องใช้เอกสารเดินทาง ที่ถูกต้อง ได้แก่ หนังสือเดินทางและบัตรผ่านแดน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามเอกสาร Concept Paper on Thailand - Cambodia Border Points of Entry: Ways towards New Order, Effective Border Management and Greater Bilateral Cooperation ซึ่งส่งเสริมการสัญจรข้ามแดนที่ถูกต้อง การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติในพื้นที่ชายแดน การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมในพื้นที่ชายแดน อย่างไรก็ดี ปัญหาในพื้นที่ชายแดนยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการลักลอบค้ายาเสพติด แรงงานลักลอบเข้าเมือง โดยผิดกฎหมาย การโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ปัญหาการปฏิบัติต่อชาวกัมพูชาที่ถูกจับกุม ในบางครั้ง การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไทยเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมอาจนำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลและประชาชนของทั้งสองประเทศได้
ความร่วมมือด้านแรงงานและการต่อต้านการค้ามนุษย์ ไทยกับกัมพูชาได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงานไทย - กัมพูชา และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการขจัดการค้าเด็กและหญิงและการช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2546 เพื่อจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามแดนโดยผิดกฎหมายชาวกัมพูชาในประเทศไทย รวมทั้งป้องกันและปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2548 ทางการไทยได้ขึ้นทะเบียนแรงงานชาวกัมพูชาไว้แล้วจำนวน 183,541 คน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิสูจน์สัญชาติและออกเอกสารประจำตัว (Certificate of Identity - C.I.) แก่แรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานจำนวน 75,804 คน ซึ่งนับจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2549 มีผู้ได้รับการรับรองสัญชาติและได้รับเอกสารประจำตัวแล้วจำนวน 32,254 คน
การพัฒนาร่วมเขาพระวิหาร รัฐบาลไทยกับกัมพูชาเห็นชอบร่วมกันที่จะพัฒนาปราสาทเขาพระวิหารเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันดีงามที่ยั่งยืน โดยได้จัดตั้งกลไกขึ้นกำกับดูแล การดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่สำคัญคือคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาเขาพระวิหาร และคณะอนุกรรมการอีก 2 คณะ ได้แก่
(1) คณะอนุกรรมการวางแผนการพัฒนาร่วมเขาพระวิหาร
(2) คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทเขาพระวิหาร โดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันให้เริ่มโครงการพัฒนาภายหลังจากที่ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกแล้ว และให้เชื่อมโยงการพัฒนาช่องตาเฒ่า (ห่างจากเขาพระวิหาร 5 ก.ม.) ซึ่งฝ่ายกัมพูชามักรบเร้าให้ฝ่ายไทยเปิดเป็นจุดผ่านแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาร่วมเขาพระวิหาร โดยให้ดำเนินการทั้งสองเรื่องควบคู่กันในลักษณะ package และให้การพัฒนาส่งเสริมซึ่งกันและกัน
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชาในทางเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ในกัมพูชาประมาณ 495 คน6 ส่วนใหญ่เข้าไปประกอบธุรกิจส่วนตัว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร และค้าขาย ประเทศไทยถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญและเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในกัมพูชา แต่โดยที่ระบบการบริหารจัดการภายในของกัมพูชา อาทิ การจัดเก็บภาษี การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ความโปร่งใส ฯลฯ ยังขาดมาตรฐานและไม่เป็นสากล ทำให้การค้าและการลงทุนของไทยในกัมพูชามีต้นทุนสูงและเติบโตช้าซึ่งไม่สอดคล้องกับศักยภาพและสถานะทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้ รัฐบาลสองฝ่ายได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและตกลงที่จะร่วมมือกันเร่งรัดการแก้ไขปัญหาและลดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้ปรากฏผลที่เป็นรูปธรรมต่อไปมูลค่าการค้าทวิภาคีไทย - กัมพูชา ในปี พ.ศ. 2548 มีมูลค่า 38,137.70 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 26.27 โดยฝ่ายไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 35,597.50 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบสินค้าเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง เครื่องดื่มและเครื่องดื่มบำรุงกำลัง สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค พลาสติกและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนสินค้าสำคัญที่นำเข้าจากกัมพูชา ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์จากไม้ สินค้ากสิกรรม สินค้าประมงและปศุสัตว์ สิ่งทอ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องจักรไม่ใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์โลหะ ผลิตภัณฑ์กระดาษ สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สำหรับการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา ในปี 2548 มีมูลค่า 31,128.18 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 32.29 โดยฝ่ายไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าชายแดน 28,057.37 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการค้าชายแดนมีความสำคัญในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าหลังการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมทางบกระหว่างไทย - กัมพูชาแล้วเสร็จ ได้แก่ ถนนหมายเลข 5 (ช่วงปอยเปต - ศรีโสภณ) และหมายเลข 6 (ช่วงศรีโสภณ - เสียมราฐ) หมายเลข 67 (สะงำ - อันลองเวง - เสียมราฐ) และหมายเลข 48 (เกาะกง - สแรอัมเบิล) การค้าชายแดนจะขยายตัวอีกมาก ด้านการลงทุน ในปี 2547 การลงทุนของไทยในกัมพูชาสูงเป็นลำดับ 9 มีการลงทุนเพียง 1 โครงการ มูลค่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อผลิตพื้นซีเมนต์สำเร็จรูป ต่อมาในช่วง 8 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2548 การลงทุนของไทยขยับขึ้นเป็นลำดับ 4 รวม 5 โครงการ มูลค่าทุนจดทะเบียน 5.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ โรงงานผลิตน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก โครงการก่อสร้างโรงแรมพร้อมสนามกอล์ฟในจังหวัดเสียมราฐ 6 จำนวนคนไทยที่มีสิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในปี 2549 ทั้งนี้ จำนวนที่แท้จริงอาจมีมากถึง 700 คน ซึ่งทั้ง 3 โครงการเป็นการลงทุนโดยคนไทยทั้งหมด โครงการเหมืองแร่และโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนไทย - กัมพูชา ถือเป็นโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ขนาดใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ตั้งอยู่ที่จังหวัดกัมปอต (ห่างจากกรุงพนมเปญประมาณ 130 ก.ม.) มีเงินลงทุนประมาณ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภายใต้กรอบต่าง ๆ โดยเฉพาะACMECS อาทิ การจัดทำ Contract Farming การรับซื้อผลิตผลการเกษตร 10 ชนิดในอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 0 การส่งเสริมการซื้อขายสินค้าแบบหักบัญชี (Account Trade) การจัดตั้ง One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกด้านพิธีศุลกากร การฝึกอบรมและพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร โครงการจัดทำแปลงเกษตรสาธิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนของกัมพูชา เป็นต้น
ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม
ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ไทยกับกัมพูชามีความคล้ายคลึงกันทางด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างมาก จึงเป็นเรื่องง่ายที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะใช้ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมเป็นสื่อกลางในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ดังเช่นความพยายามที่จะประสานรอยร้าวของความสัมพันธ์ภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงพนมเปญเมื่อปี 2546 ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทย กัมพูชา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและใช้เป็นกลไกในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยสองฝ่ายได้จัดประชุมร่วมกันแล้วหลายครั้ง เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือและแผนปฏิบัติการประจำปีสำหรับใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานร่วมกัน นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ ด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยว เพื่อผลักดันความร่วมมือในแต่ละสาขา ความร่วมมือทางวิชาการไทย - กัมพูชา ไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาผ่านสำนักงานความร่วมมือเพื่อ การพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านการเกษตร การศึกษาและด้านสาธารณสุขเป็นหลัก รวมทั้งการพัฒนาในสาขาอื่นๆ อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาชนบท และการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยในปี 2546 และปี 2547 ไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาเป็นงบประมาณจำนวน 81.35 ล้านบาท และ 38.38 ล้านบาท ตามลำดับ (ไม่นับความช่วยเหลือที่กัมพูชาได้รับโดยตรงจากส่วนราชการ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนอีกจำนวนมาก)
สำหรับประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ ที่ได้มีการหารือกันในครั้งนี้ ที่สำคัญได้แก่
(1) การปักปันเขตแดนทางบกและการพัฒนาในพื้นที่ชายแดน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันที่จะร่วมมือกันอย่างจริงจังในการปักปันเขตแดนทางบกให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งป้องกันมิให้การพัฒนาต่าง ๆ ในพื้นที่ชายแดนมีผลกระทบ/สร้างปัญหาให้กับการปักปันเขตแดน นอกจากนั้น ยังได้ตกลงกันผลักดันความร่วมมือไทย - ลาว - กัมพูชาในกรอบความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกต อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยว และความสัมพันธ์ภาคประชาชน และอื่น ๆ
(2) การเชื่อมโยงคมนาคมทางบก สองฝ่ายเน้นย้ำถึงความสำคัญของเรื่องนี้เพื่อส่งเสริมการสัญจรไปมาหาสู่กันของประชาชนทั้งสองฝ่าย และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันในระยะยาว โดยจะเร่งรัดดำเนินการโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงที่ไทยได้ให้การสนับสนุนแก่กัมพูชา (ถนนหมายเลข 67 (สะงำ - อันลองเวง - เสียมราฐ) และหมายเลข 48 (ตราด - เกาะกง - สแรอัมเบิล) ให้แล้วเสร็จตามกำหนดก่อนที่จะพิจารณาร่วมมือกันในการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงอื่น ๆ ที่จะมีประโยชน์ร่วมกันต่อไป ตลอดจนเรื่องการให้ความสนับสนุนกัมพูชาในเรื่องการซ่อมสร้างเส้นทางรถไฟช่วงปอยเปต ศรีโสภณ
(3) การพัฒนาร่วมในพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันเจตนารมณ์ที่จะเดินหน้าโครงการตามที่ได้ตกลงกันไว้ กล่าวคือ ให้มีการดำเนินงานทางด้านเทคนิคทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดอาณาเขตทางทะเล และการพัฒนาร่วมในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป
(4) ความร่วมมือในการป้องกันและเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ยกเป็นตัวอย่างของความร่วมมือสำคัญนอกเหนือจากประเด็นด้านการเมืองและเศรษฐกิจ โดยได้ตกลงจะร่วมมือกันอย่างจริงจังในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งให้ขยายขอบเขตเป็นความร่วมมือด้านสาธารณสุขในภาพรวมด้วย
แนวโน้มความสัมพันธ์ไทย กัมพูชา
เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการของความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชานับจากต้นปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในทุกสาขาและทุกระดับน่าจะพัฒนาต่อไปได้อย่างราบรื่น โดยมีกรอบความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีตามข้างต้นเป็นกลไก ขับเคลื่อนที่สำคัญ อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย - กัมพูชา อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัย และสภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมภายในกัมพูชาได้เช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองภายใน และการถดถอยทางเศรษฐกิจเนื่องจากวิกฤติการณ์ด้านพลังงานและปัจจัยแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การก่อการร้าย เป็นต้น
ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
1. ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (ลงนามเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2537)
2. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (ลงนามเมื่อ 29 มีนาคม พ.ศ. 2538)
3. ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการชายแดน (ลงนามเมื่อ 29 กันยายน พ.ศ. 2538)
4. ความตกลงว่าด้วยการค้า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (ลงนามเมื่อ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2539)
5. ความตกลงทางวัฒนธรรม (ลงนามเมื่อ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2540)
6. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการปราบปรามการค้ายาเสพติด สารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารตั้งต้น (ลงนามเมื่อ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541)
7. สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (ลงนามเมื่อ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541)
8. ความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบขนส่งทรัพย์สินทางวัฒนธรรมข้ามแดนและการส่งคืนทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (ลงนามเมื่อ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2543)
9. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (ลงนามเมื่อ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2543)
10. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต (ลงนามเมื่อ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544)
11. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาถนนหมายเลข 48 (เกาะกง - สแรอัมเบิล) และถนนหมายเลข 67 (สะงำ - อันลองเวง - เสียมราฐ) (ลงนามเมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2546)
12. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการขจัดการค้าเด็กและหญิง และการช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ (ลงนามเมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2546)
13. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร (ลงนามเมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2546)
14. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน (ลงนามเมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2546)
15. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา (ลงนามเมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2546)
16. พิธีสารยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางราชการ (ลงนามเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549)
17. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสารสนเทศและกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ไทย - กัมพูชา (ลงนามเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549)
กฎระเบียบทางการค้า
1. มาตรการด้านนำเข้า ส่งออก
1.1 การนำเข้า
กัมพูชามีนโยบายการค้าเสรี ไม่มีข้อกีดกันทางการค้า หรือกำหนดโควตาในการนำเข้าสินค้า ผู้ประสงค์จะนำสินค้าเข้ากัมพูชาต้องชำระภาษีขาเข้าและภาษีผู้บริโภคตามที่กำหนด นอกจากนี้ในการนำสินค้าเข้าประเทศกัมพูชาต้องผ่านการตรวจสอบและกำหนดพิกัดศุลกากร โดยกระทรวงพาณิชย์ว่าจ้างให้บริษัทเอกชน คือ บริษัท Society General de Surveillance S.A. หรือ SGS ตรวจสอบสินค้าก่อนการนำเข้า (Reshipment Inspection : PSI) และมีกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง เป็นผู้จัดเก็บภาษีนำเข้า
1.2 การส่งออก
กัมพูชามีนโยบายการค้าเสรี ไม่มีข้อกีดกันทางการค้า สามารถส่งออกโดยเสรียกเว้นรายการสินค้าที่กระทรวงพาณิชย์กัมพูชากำหนดให้ออกได้ต้องมีเอกสารรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าจากกรมสิทธิประโยชน์กัมพูชา หรือเอกสารหนังสืออนุญาตส่งออกจากกรมการค้าต่างประเทศกัมพูชา
2. รายชื่อสินค้าควบคุมการนำเข้าส่งออก
กระทรวงพาณิชย์กำหนดระเบียบขั้นตอนการตรวจสอบสินค้าก่อนการนำเข้า (Reshipment Inspection : PSI) ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท Society General de Surveillance S.A. หรือ SGS สำหรับสินค้าที่มีมูลค่ามากกว่า 5,000 เหรียญสหรัฐฯ ดังต่อไปนี้
2.1 สินค้าที่ยกเว้นการตรวจสอบก่อนการนำเข้า ได้แก่
1) หินและโลหะที่มีราคาแพง
2) วัตถุด้านงานศิลป์
3) วัตถุระเบิดและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการระเบิด
4) กระสุนดินดำ อาวุธและยุทโธปกรณ์
5) สัตว์มีชีวิต
6) หนังสือพิมพ์รายวันและรายคาบ
7) เครื่องใช้ในบ้านเรือนและทรัพย์สินส่วนตัว รวมถึงยานยนต์ใช้แล้ว
8) พัสดุที่ฝากส่งทางไปรษณีย์ หรือตัวอย่างสินค้า
9) สิ่งของซึ่งรัฐบาลต่างชาติ หรือองค์กรระหว่างประเทศจัดส่งให้แก่มูลนิธิองค์กรการกุศล และองค์กรเพื่อช่วยเหลือมนุษยชาติ
10) สิ่งของและวัสดุครุภัณฑ์ซึ่งนำมาเพื่อใช้ในภารกิจของคณะทูต สถานทูต กงสุล หรือสถานกงสุล และองค์การสหประชาชาติ รวมถึงตัวแทนขององค์การในด้านต่าง ๆ
11) สินค้าทุนทุกชนิดซึ่งได้รับอนุญาตให้นำเข้าโดยยกเว้นภาษีจากสภาเพื่อพัฒนากัมพูชา (ไม่ว่าสินค้านั้นจะถูกกำหนดให้เสียภาษีหรือไม่ก็ตาม)
12) สินค้าทุกชนิดที่รัฐบาลได้กำหนดให้นำเข้าโดยไม่ต้องเสียภาษี เช่น ปุ๋ยเคมี อุปกรณ์และเครื่องยนต์ที่ใช้ด้านการเกษตร เครื่องใช้ด้านการศึกษาและเครื่องกีฬา ฯลฯ
2.2 ห้ามนำเข้าสินค้าบางชนิดที่มีผลกระทบความมั่นคง ปลอดภัย สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และ อุตสาหกรรมภายในประเทศ ได้แก่ อาวุธ วัตถุระเบิด รถยนต์และเครื่องจักรที่ใช้ในการทหาร ทอง เครื่องเงิน เงินตรา ยาและยาพิษ
2.3 รายสินค้าที่ควบคุมการนำเข้า-ส่งออกของประเทศกัมพูชา
1) การนำเข้า กัมพูชามีนโยบายการค้าเสรีไม่มีข้อกีดกันทางการค้า หรือกำหนดโควต้าใน การนำเข้าสินค้า ผู้ประสงค์ต้องชำระภาษีผู้บริโภคตามที่กำหนด
2) การส่งออก สินค้าส่งออกที่ต้องมีเอกสารกำกับคือ
2.1) เอกสารหนังสือรับรองของแหล่งกำเนิดสินค้า กรมสิทธิประโยชน์ (GSP Dept.)
กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา จะออกเอกสารหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าให้กับผู้ส่งออกสินค้าที่ประเทศผู้นำเข้าต้องการเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรและอื่น ๆ ขณะนี้มีสินค้าที่ต้องออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าส่งออกไปบางประเทศ เช่น
- ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้
- เสื้อผ้าสำเร็จรูปและถุงมือ
- รองเท้า
- กุ้งแช่แข็ง
- ข้าว
- เบียร์ บุหรี่
2.2) เอกสารหนังสืออนุญาตส่งออก กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กัมพูชาจะออกใบอนุญาตส่งออกสินค้าที่ควบคุมส่งออก คือ
- ไม้ และผลิตภัณฑ์จากไม้
- ข้าว
3. มาตรการทางภาษี
3.1 ภาษีธุรกิจ
1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax : VAT)
กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา ได้มีประกาศใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ก) ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT ของกัมพูชาจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542
ข)ภาษีมูลค่าเพิ่มของกัมพูชามี 2 อัตรา คือ อัตรามาตรฐานร้อยละ 10 และอัตราศูนย์
ค)ให้ผู้มีหน้าที่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นขอจดทะเบียน ณ ที่ทำการกรมสรรพากร
ง)ผู้ที่จดทะเบียนชำระภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ต้องเสียภาษีการค้า (Turnover Tax) และภาษีผู้บริโภค (Consumption Tax)
จ)ผู้นำเข้าสินค้ารายใดที่ไม่ได้จดทะเบียนเพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กรมสรรพากรกำหนดจะไม่สามารถนำสินค้าเข้ากัมพูชาได้
2) Coporate Tax หรือ Advance Payment of Profit Tax เริ่ม 1 มกราคม 2539 คิดในอัตรา 1% ของยอดรายได้รวมของธุรกิจ
3) Patent Tax เป็นภาษีที่คิดจากยอดรายได้รวมทั้งปี
4. มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี
4.1 พิธีการศุลกากร
ทางการกัมพูชาได้กำหนดระเบียบปฏิบัติในการนำเข้าสินค้า โดยให้มีการตรวจสอบสินค้าก่อนการส่งสินค้าเข้าไปยังกัมพูชาที่เรียกว่า PRE-SHIPMENT INSPECTION (PSI) สำหรับสินค้าที่มีมูลค่ามากกว่า 5,000.00 เหรียญสหรัฐฯ ตามประกาศของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของกัมพูชา ลงวันที่ 8 กันยายน 2538 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2538
4.2 สินค้าที่ห้ามนำเข้า
1211.90.10 Cannabis
1211.90.20 Coca plants
1301.90.10 Cannabis resin
1302.11 Opium
1302.39.10 Concentrated poppy straw
2921 Amine-function compounds
2922 Oxygen-function amino compounds
2924 Carboxyamide-function compounds : amine-function compounds of carbonic acid
2925 Carboxyamide-function compounds (including saccharin and its salts) and
amine-function compounds
2926 Nitrile - function compounds
2932 Heterocyclic compounds with oxygen hetero - atoms(s) only
2933 Heterocyclic compounds with oxygen hetero - atoms(s) only nucleic acids and their salts
2934 Other heterocyclic compounds
8702/870/38704/8705 Vehicles with steering wheels on the right side
9706 Antiques of an age exceeding one hundred years Pornographic material, toxic waste,
counterfeit goods, Body parts of motor vehicles (front and rear cut)
การจำกัดปริมาณการนำเข้าสินค้า
ในกัมพูชาไม่มีการจำกัดปริมาณการนำเข้าสินค้าแต่อย่างใด
5. ระเบียบทางการค้า
5.1 การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
ประเทศกัมพูชาใช้เงินเหรียญสหรัฐฯ หมุนเวียนในตลาดมากกว่าเงินเรียล ซึ่งเป็นเงินพื้นเมือง ดังนั้น การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจึงเป็นไปค่อนข้างจะเสรีอย่างมาก
5.2 มาตรฐานสินค้า
ยังไม่มีกฎหมายกำหนด
5.3 ข้อกำหนดในการปิดฉลากและเครื่องหมายทางการค้า
ข้อกำหนดการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารวมทั้งสิทธิการคุ้มครองผู้ประกอบการต่างชาติ
- เอกสารที่ใช้ประกอบการดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
กรอกแบบฟอร์มจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
หนังสือต้นฉบับ Power of Attorney ของสินค้าที่จดทะเบียน
ระยะเวลาที่ใช้ในการยื่นเรื่องแต่ละขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบมีระยะเวลา 6 เดือน (ตามระเบียบที่กำหนด) แต่เจ้าหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญากัมพูชาแจ้งว่า หากมีเอกสารครบและไม่มีปัญหาใด ๆ จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเท่านั้น
- สิทธิการคุ้มครองผู้ประกอบการ
หลังจากได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเรียบร้อยแล้ว เจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งชาวกัมพูชาและชาวต่างชาติจะได้รับการคุ้มครองระยะเวลา 10 ปี และในปีที่ 5 เจ้าของเครื่องหมายการค้าต้องแจ้งกระทรวงพาณิชย์ว่าได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นหรือยัง
- ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 1 ยี่ห้อ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้รัฐบาลเท่ากับ 125 เหรียญสหรัฐฯ
- ต้องไปยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ตั้งอยู่ที่ 20 A-B Norodom blvd., Phnom Penh, Cambodia, Tel (855-23) 366875, 426396
- ค่าแปลเอกสารจากภาษาเขมร-อังกฤษ-เขมร 1 หน้าเท่ากับ 5 เหรียญสหรัฐฯ
- เอกสารที่ใช้ประกอบการดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
กรอกแบบฟอร์มจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
หนังสือตัวจริง Power of Attorney ของสินค้าที่ขอจดทะเบียน
ตัวอย่างเครื่องหมายการค้าจำนวน 15 ใบ
ระยะเวลาที่ใช้ในการยื่นเรื่องแต่ละขั้นตอนตั้งแต่ต้นจะจบมีระยะเวลา 6 เดือน (ตามระเบียบที่กำหนด) แต่เจ้าหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาแจ้งว่า หากไม่มีปัญหาใด ๆ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนเท่านั้น
5.4 การเดินทางเข้าประเทศ
ผู้ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศกัมพูชาจะต้องขอวีซ่าจากสถานทูตกัมพูชาในต่างประเทศ หรือจะขอวีซ่าที่ท่าอากาศยานเมื่อเดินทางไปถึงก็ได้เช่นเดียวกัน โดยทางกัมพูชาจะออกวีซ่าให้กับผู้เดินทางเข้าประเทศชั่วคราว 2 ชนิด คือ วีซ่าสำหรับนักธุรกิจ และวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยว
ความสัมพันธ์ทางการค้า
1. ภาครัฐบาล
- ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย - กัมพูชา (JC) ลงนามเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2537 ณ กรุงพนมเปญ ประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2540 ณ จังหวัดเชียงใหม่
- ความตกลงว่าด้วยการค้า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และวิชาการ ระหว่างไทย - กัมพูชา ลงนามเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2539 ณ กรุงพนมเปญ
- ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ลงนาม เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2538 ณ กรุงเทพฯ
- ความตกลงว่าด้วยการค้า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการระหว่างไทย - กัมพูชา ลงนามเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2539
- บันทึกความเข้าใจเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-กัมพูชา (MOU เพื่อจัดตั้ง JTC)
2. ภาคเอกชน
- ไม่มีข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน
รูปแบบการค้า
1. วิธีการค้า
1) การค้าแบบปกติ
ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกของกัมพูชาจะต้องขอจดทะเบียนเป็นผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยการนำเข้าสินค้าของกัมพูชานั้นจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพสินค้าจากบริษัท SGS ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ที่กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาจัดจ้างขึ้นมาเพื่อทำการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้า
2) การค้าชายแดน
การค้าชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน โดยการค้าชายแดนจะเป็นการค้าระหว่างผู้ส่งออกไทยที่อยู่ตามจังหวัดชายแดนไทยกับผู้นำเข้ากัมพูชา ที่อยู่ตามจังหวัดชายแดนของกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขาย ครั้งละไม่เกิน 5 แสนบาท
2. ประเภทของผู้นำเข้าและส่งออกของกัมพูชา
1) บริษัทของรัฐบาล (State-owned Company) เป็นหน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นเพื่อนำเข้าสินค้าที่จำเป็นต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น การนำเข้าอาหารและข้าว เพื่อใช้แจกเป็นสวัสดิการแก่ทหารและข้าราชการ
2) บริษัทเอกชน (Private Company)
เป็นบริษัทผู้นำเข้า (Importer) หรือบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว (Sole Agent) หรือเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่าย (Distributor) ของกัมพูชา
3) ผู้ค้าชายแดน
เป็นผู้รับจ้างนำเข้าสินค้าให้กับร้านค้าย่อยตามตลาดต่างๆ โดยพ่อค้าชายแดนจะรับสินค้าจากชายแดนไทยไปส่งตามร้านค้าและแผงลอยในกัมพูชา ซึ่งสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค
3. การชำระเงินค่าสินค้าระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าของกัมพูชา มีดังนี้
1) การชำระด้วยระบบ L/C (Letter of Credit) เป็นการชำระเงินค่าสินค้าที่มีมูลค่าสูง โดยผู้ซื้อในกัมพูชาจะติดต่อกับธนาคารของตนเองเพื่อให้ธนาคารของตนเปิด L/C ให้กับผู้ส่งออกไทยโดยผ่านธนาคารของไทย หลังจากนั้นธนาคารของไทยจะส่ง L/C ให้ผู้ส่งออกเพื่อดำเนินการส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อต่อไป
2) การชำระค่าสินค้าด้วยเงินสดสกุลเงินที่นิยมนำมาใช้มากที่สุดคือ ดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาท หรือบางครั้งจะชำระด้วยทองคำ
3) การชำระเงินระบบ D/P (Documents Against Payment) และ D/A (Documents Against Acceptance) ผู้ส่งออกของไทยจะทำการตรวจสอบฐานะและประวัติของผู้ซื้อกัมพูชาก่อนจนเป็นที่พอใจแล้วจึงส่งเอกสารและสินค้าไปให้กับธนาคารของผู้นำเข้าโดยผู้นำเข้าจะต้องชำระเงินค่าสินค้าก่อนจึงจะสามารถนำเอกสารไปออกสินค้าได้
4) การชำระเงินด้วยระบบ T/T (Telegraphic Transfer) ผู้ส่งออกของไทยจะส่งสินค้าไปให้กับผู้นำเข้ากัมพูชาโดยให้เครดิตระยะหนึ่ง เมื่อครบกำหนดเครดิตผู้นำเข้าของกัมพูชาจะโอนเงินโดยทางโทรเลขกลับมาให้ผู้ส่งออกของไทย
ช่องทางการจำหน่าย
1. ช่องทางการจัดจำหน่ายและการกระจายตัวของสินค้าในตลาดกัมพูชา จำแนกตามสินค้าที่สำคัญดังนี้
1) สินค้าอุปโภคบริโภค ผู้นำเข้าของกัมพูชาจะนำสินค้าจากไทยไปกระจายให้กับร้านค้าส่ง ซุปเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ท และ ร้านค้าปลีก ในกรุงพนมเปญและเมืองการค้าต่างๆ
2) สินค้าวัสดุก่อสร้าง ผู้นำเข้าจะเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าเองโดยจะกระจายสินค้าต่อไปยังตัวแทนขายและร้านค้าปลีก รวมทั้งการขายโดยตรงให้ผู้บริโภคทั้งในกรุงพนมเปญและจังหวัดต่างๆ
2. ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านแดน
ผู้นำเข้าของกัมพูชาจะนำสินค้าเข้าจากไทยแล้วส่งต่อไปจำหน่ายที่เวียดนามโดยเป็นลักษณะของการขนสินค้าผ่านแดน
จุดการค้าและเส้นทางการค้า
จุดการค้าที่สำคัญของกัมพูชาที่มีชายแดนติดกับไทยได้แก่ พระตะบอง เสียมเรียบ และเกาะกง ส่วนเมืองการค้าที่ไม่มีเขตติดต่อกับไทยได้แก่ กรุงพนมเปญ กัมปงโสม สวายเรียง สะตรึงเตร็ง และรัตนคีรี ส่วนเส้นทางการค้าในกัมพูชาที่ใช้ขนส่งสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นการขนส่งทางรถยนต์และการขนส่งทางเรือดังนี้
1. เส้นทางคมนาคมทางบกที่ใช้รถยนต์ในการขนส่งสินค้าที่สำคัญ ได้แก่
1) ถนนหมายเลข 1 เป็นเส้นที่เชื่อมจากกรุงพนมเปญเข้าสู่ นครโฮจิมินห์ของประเทศเวียดนาม
2) ถนนหมายเลข 4 เป็นเส้นทางการค้าที่ใช้ขนส่งสินค้าจากท่าเรือกัมปงโสมเข้าสู่กรุงพนมเปญ
3) ถนนหมายเลข 5 เป็นถนนที่ตัดผ่านจากชายแดนไทยที่อำเภออรัญประเทศผ่านเมืองสำคัญต่างๆ ของกัมพูชาและเข้าสู่กรุงพนมเปญ
4) ถนนหมายเลขที่ 7 เป็นถนนสายสำคัญอีกเส้นหนึ่งที่ใช้เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวและการค้าโดยตัดจากกรุงพนมเปญเข้าสู่เมืองกัมปงจาม
5) ถนนหมายเลขที่ 13 เป็นถนนสายเอเซียที่เชื่อม 4 ประเทศจากประเทศลาวเข้าสู่จังหวัดอุบลราชธานีของไทยผ่านเข้าสู่เมืองสะตรึงเตร็งของกัมพูชาและเข้าสู่นครโฮจิมินห์ของ เวียดนาม
2. เส้นทางคมนาคมทางน้ำ ท่าเรือหลักที่ใช้ขนส่งสินค้าของกัมพูชา มี 2 แห่ง คือ
1) ท่าเรือกัมปงโสม สามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาด 10,000 ตัน ได้พร้อมกัน 4 ลำ นอกจากนี้ยังมีท่าเทียบเรือขนาดเล็กสำหรับเรือลำเลียงที่มีขนาดใหญ่
2) ท่าเรือพนมเปญ เป็นท่าเรือขนาดเล็กมีความยาวหน้าท่าประมาณ 183 เมตร และท่าลอยน้ำ 3 แห่ง รองรับเรือที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 100 เมตร ได้ นอกจากนี้ยังมีท่าเทียบเรือสำหรับรองรับเรือขนาดเล็กด้วย
ระบบการเงินการธนาคาร
1. ระบบการเงิน
ในอดีตกัมพูชาไม่มีสกุลเงินเป็นของตนเอง ราคาสินค้าถูกกำหนดโดยเงินดองของเวียดนาม เงินบาทของไทย ทองคำ และข้าว โดยอัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวตามอัตราตลาดในปี 2533 รัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศใช้ระบบเงินตราโดยนำสกุลเงินเรียล (Riel) มาใช้ ต่อมาในปี 2538 กัมพูชาได้ใช้นโยบายเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและได้มีการส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศ ทำให้สกุลเงินที่ใช้ในการติดต่อค้าขายในประเทศมีหลายสกุลด้วยกันคือ
- เงินเหรียญสหรัฐฯ ใช้ในการชำระค่าสินค้านำเข้าหรือส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์หรือสินค้าที่ผ่านทางสิงคโปร์
- เงินบาท ใช้ในการชำระค่าสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออกไปจากประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับชายแดนไทย-กัมพูชา
- ทองคำ เป็นที่นิยมในการชำระหนี้มากที่สุด โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งออก หรือนำเข้าจากประเทศสังคมนิยมและยุโรปตะวันออกตลอดจนใช้เป็นตัวกำหนดค่าแลกเปลี่ยนเงินและซื้อขายสินค้าในตลาดทั่วไป
- เงินเรียล (Riel) เป็นสกุลเงินของประเทศกัมพูชาที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ของกัมพูชา อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 2,700 เรียล ต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ (ในปี 2539)2. ระบบธนาคาร
หลังจากที่รัฐบาลกัมพูชาได้นำสกุลเงินเรียลกลับมาใช้นั้นรัฐบาลได้จัดตั้งธนาคารแห่งชาติ (National Bank of Cambodia) ขึ้นมากำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลเปิดกว้างให้เข้ามาดำเนินการทั้งในลักษณะการขยายสาขา และการร่วมทุนกับธนาคารชาติกัมพูชา ปัจจุบันธนาคารในกัมพูชามีดังนี้ คือ
1) ธนาคารชาติกัมพูชา (National Bank of Cambodia) ทำหน้าที่ออก กฎระเบียบและนโยบายต่างๆ เพื่อการควบคุมธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศและธนาคารพาณิชย์ของเอกชนและยังทำหน้าที่กึ่งธนาคารพาณิชย์ด้วยในการระดมทุนกับรัฐบาลและปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคเอกชน
2) ธนาคารการค้าต่างประเทศ (Foreign Trade Bank of Kampuchea) ทำธุรกิจทางด้านการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
3) ธนาคารแห่งประชาชนกัมพูชา (Public Bank of Kampuchea) ทำธุรกิจ ด้านการเงินภายในประเทศส่วนใหญ่เป็นการปล่อยสินเชื่อด้านการเกษตร
4) ธนาคารร่วมทุน (Joint Venture Bank) เป็นธนาคารพาณิชย์ต่างชาติที่ร่วมทุนกับรัฐบาลกัมพูชา โดยเป็นธนาคารไทย 5 แห่ง และธนาคารต่างชาติ ดังนี้
- ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ จำกัด (Cambodia Commercial Bank Ltd.) เป็นการร่วมทุนธนาคารไทยพาณิชย์กับธนาคาร-ชาติกัมพูชาในอัตราส่วน 70 ต่อ 30
การค้าชายแดนระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา
การค้ารวม
ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา(2544-2549) ประเทศไทยทำการค้ากับกัมพูชา มูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 114,706.5 ล้านบาท เป็นอันดับที่ 4 คิดเป็นร้อยละ 5.9 ของการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยประเทศไทยเกินดุลการค้ากัมพูชาเท่ากับ 107,869.3 ล้านบาท การค้าระหว่างไทยและกัมพูชามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปี 2541 ที่มีมูลค่าการค้ารวมเท่ากับ 13,413.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงหลัก 2 หมื่นล้านบาทตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา โดยมีมูลค่าการค้ารวมเท่ากับ 21,316.2 ล้านบาท
ในปีที่ผ่านมา(2549) มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยและกัมพูชาเท่ากับ 29,186.1 ล้านบาทโดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุล 28,170.9 ล้านบาท
ในปี 2550 มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยและกัมพูชาเท่ากับ 116686.9 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันกับปีที่ผ่านมาร้อยละ 25.3โดยไทยส่งออกลดลงจาก 15,521.1 ล้านบาท เหลือ 11,303.7 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 27.2 สำหรับการนำเข้าปรากฏว่ามีมูลค่าการค้าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาใน่ช่วงเวลาเดียวกัน โดยเพิ่มขึ้นจาก 124.5 ล้านบาท เป็น 383.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 207.8 ทั้งนี้ปัจจัยที่สำคัญน่าจะมาจากนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน(Economic Cooperation Strategy : ECS)ที่ประเทศไทยพยายามส่งเสริมและลดอุปสรรคต่างๆในการรับซื้อสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงเกินดุลการค้าเท่ากับ 10,920.5 ล้านบาท
การส่งออก
ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกไปกัมพูชามูลค่ารวมทั้งสิ้น 111,287.9 ล้านบาท การส่งออกจากไทยไปกัมพูชามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยตลอด จากปี 2544 ไทยส่งออกไปกัมพูชามูลค่า 12,402.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงหลัก 2 หมื่นล้านบาทในปี 2544 เป็นต้นมา โดยมีมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 20,771 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา (2549) ประเทศไทยส่งออกไปกัมพูชามูลค่าส่งออกเท่ากับ 28,678.5 ล้านบาท ในปี 2550 มูลค่าการส่งออกของประเทศไทยไปกัมพูชาเท่ากับ 11,303.7 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันกับปีที่ผ่านมา(15,521.1) ร้อยละ 27.2
การนำเข้า
ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยนำเข้าจากกัมพูชามูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,418.6 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้ามีแนวโน้มที่ไม่ชัดเจน โดยในปี 2544 มูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 1,010.7 ล้านบาท ลดลงเหลือ 316.7 ล้านบาทในปี 2543 แต่เพิ่มขึ้นเป็น 545.2 ล้านบาทในปี 2544 ในปี 2549 ประเทศไทยนำเข้าจากกัมพูชามูลค่า 507.6 ล้านบาท ในปี 2550 ประเทศไทยนำเข้าจากกัมพูชามูลค่า 383.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันกับปีที่ผ่านมา(124.5) ร้อยละ 207.8
การค้าชายแดน
1. รูปแบบการค้า
-การค้าในระบบ เป็นการนำเข้าและส่งออกสินค้าจะต้องผ่านพิธีการศุลกากรตามจุดการค้าชั่วคราวตามจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา การ นำเข้าสินค้าจะนำเข้าโดยผู้นำเข้า-ส่งออกที่จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก
-การค้านอกระบบ เป็นการค้าที่ไม่ผ่านระบบพิธีการศุลกากร เป็นการลักลอบค้าขายตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา
2. ช่องทางการจำหน่าย
-การจัดจำหน่ายสินค้าตามแนวชายแดนของไทยไปกัมพูชานั้นส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน โดยผู้นำเข้ากัมพูชาจะนำสินค้าไทยเข้าไปกระจายตามจังหวัดต่างๆ ประมาณร้อยละ 30 และนำเข้าไปยังกรุงพนมเปญเพื่อกระจายให้กับ ผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกประมาณร้อยละ 35 ส่วน ที่เหลือประมาณร้อยละ 35 จะนำเข้าเพื่อจำหน่ายต่อไปยังประเทศเวียดนาม
-การชำระค่าสินค้าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาจะชำระด้วยเงินสดเป็นสกุลเงินบาท สกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ และบางครั้งจะจ่ายเป็นทองคำ หากการซื้อขายมีปริมาณมากจะชำระด้วยการโอนเงินทางโทรเลข Telegraphic Transfer (T/T) ผู้ส่งออกของไทยจะส่งสินค้าให้ผู้นำเข้าของกัมพูชาก่อนโดยให้เครดิตระยะหนึ่ง เมื่อครบกำหนดชำระเงิน ผู้นำเข้าของกัมพูชา จะโอนเงินโดยทาง โทรเลขกลับมาให้ผู้ส่งออกไทย การชำระค่าสินค้าอีกวิธีหนึ่งคือผู้ส่งออกไทยจะส่งสินค้าไปให้ผู้นำเข้าของกัมพูชาก่อน โดยให้เครดิตระยะหนึ่งเมื่อครบกำหนดจ่ายจะมีนายหน้าของกัมพูชาเข้ามาชำระเงินให้กับผู้ส่งออกไทยแทนผู้นำเข้ากัมพูชา เรียกระบบนี้ว่า " โพยก๊วน "
3. จุดผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชา
- ด่านชายแดนบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ตรงข้ามกับด่านชายแดนปอยเปตของกัมพูชา
- ด่านชายแดนบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ตรงข้ามกับด่านชายแดนเกาะกงขอกัมพูชา
- ด่านชายแดนช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัด สุรินท์ ตรงข้ามกับด่านโอร์เสม็ดของกัมพูชา
- ด่านชายแดนบ้านผักกาด อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ตรงข้ามกับด่านชายแดนเมืองพรมของกัมพูชา
- ด่านชายแดนบ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ตรงข้ามกับด่านชายแดนบ้านดวงของกัมพูชา
- ด่านชายแดนช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ตรงข้ามด่านชายแดนช่องจอม
ความต้องการของตลาดกัมพูชา
1. ความต้องการของตลาดกัมพูชาในปัจจุบัน
ความต้องการของตลาดกัมพูชาในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและสินค้าที่ใช้ในการพัฒนาประเทศได้แก่
1) อาหาร เป็นสินค้าที่ตลาดกัมพูชาต้องการมากที่สุด เนื่องจากเป็นปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ในปี 2539 มูลค่าการนำเข้าสินค้าหมวดอาหารของกัมพูชาเท่ากับ 102.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2538 ร้อยละ 15.59
2) รถยนต์ เป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่ตลาดกัมพูชาต้องการมาก ในปี 2539 กัมพูชามีการนำเข้ารถยนต์คิดเป็นมูลค่า 105.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2538 ร้อยละ 16.65
3) วัสดุก่อสร้าง เป็นสินค้าที่ตลาดกัมพูชามีความต้องการสูงมาก ในปี 2539 มีมูลค่าการนำเข้า 76.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก ปี 2538 ร้อยละ 172.77 โดยสินค้าที่ต้องการมากในปัจจุบันคือ ปูนซิเมนต์ และเหล็กเส้น
4) ยารักษาโรค ในปี 2539 มีมูลค่าการนำเข้า 43.69 ล้านเหรียญ-สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2538 ร้อยละ 2.37
5) ผ้าผืน ในปี 2539 มีการนำเข้าทั้งสิ้น 40.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2538 ร้อยละ 40.85
6) สินค้าเชื้อเพลิง ในปี 2539 มีมูลค่านำเข้า 110.25 ล้านเหรียญ-สหรัฐฯ ลดลงจากปี 2538 ร้อยละ 25.05
2. ความต้องการของตลาดกัมพูชาในอนาคต
ความต้องการสินค้าในอนาคตของตลาดกัมพูชา ยังคงเป็นสินค้าในหมวดที่มีความต้องการอยู่ในปัจจุบัน โดยสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดกัมพูชาในอนาคต ได้แก่
1) อาหาร จากปัญหาการสู้รบภายในประเทศที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารภายในประเทศสูงจึงต้องอาศัยการนำเข้าสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก
2) รถยนต์ ในอนาคตยังมีแนวโน้มของการนำเข้าสูง เนื่องจากปัจจุบันรถยนต์ที่มีอยู่ในตลาดยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ
3) วัสดุก่อสร้าง มีแนวโน้มการนำเข้าสูงเพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนและสาธารณูปโภคต่างๆ ในอนาคต
4) ยารักษาโรค การสาธารณสุขของกัมพูชาที่ยังล้าหลังอยู่มากและมีการสู้รบในประเทศทำให้มีทหารได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในอนาคตเวชภัณฑ์จึงเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงในกัมพูชา
5) เชื้อเพลิง ความต้องการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงของตลาดกัมพูชาในอนาคตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความต้องการยานพาหนะที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ
ส่วนแบ่งตลาดของไทยในกัมพูชา
กัมพูชามีประเทศคู่ค้า มากกว่า 23 ประเทศ จากสถิติส่วนแบ่งตลาดการค้าในกัมพูชา พบว่าคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาคือ สิงคโปร์ ส่วนประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ไต้หวัน และจีน โดยแต่ละประเทศมีส่วนแบ่งตลาดในกัมพูชา ดังนี้ (ดูตารางที่ 3.1)
1. สิงคโปร์ เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยในปี 2539 ครองส่วนแบ่งตลาดในกัมพูชาได้ถึงร้อยละ 15.39 เพิ่มขึ้นจากปี 2538 ที่มีส่วนแบ่ง-ตลาดร้อยละ 10.23 จากการคาดการณ์ของกรมศุลกากรกัมพูชาในปี 2540 ประมาณการว่า สิงคโปร์จะครองตลาดในกัมพูชาได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.26
2. ไทย เป็นคู่ค้าอันดับที่สองในปี 2539 ครองส่วนแบ่งตลาดในกัมพูชาได้ร้อยละ 12.35 เพิ่มขึ้นจาก ปี 2538 ที่มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 7.35 จากการคาดการณ์ของกรมศุลกากรกัมพูชาในปี 2540 ไทยจะครองส่วนแบ่งตลาดในกัมพูชาได้ถึงประมาณร้อยละ 19.57 โดยไทยจะครองส่วนแบ่งตลาดในกัมพูชาเป็นอันดับที่หนึ่ง
3. ญี่ปุ่น เป็นคู่ค้าอันดับที่สาม ในปี 2539 ครองส่วนแบ่งตลาดในกัมพูชา ร้อยละ 9.08 เพิ่มขึ้นจากปี 2538 ที่มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 7.82 ในปี 2540 กรมศุลกากรกัมพูชาคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นจะมีส่วนแบ่งตลาดในกัมพูชาลดลงเหลือร้อยละ 8.42
4. ไต้หวัน เป็นคู่ค้าอันดับที่สี่ ในปี 2539 มีส่วนแบ่งตลาดในกัมพูชาร้อยละ 6.87 เพิ่มขึ้นจากปี 2538 ที่มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.79 ในปี 2540 กรมศุลกากรกัมพูชาได้คาดการณ์ว่าไต้หวันจะมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.21
5. จีน เป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ห้า ในปี 2539 มีส่วนแบ่งตลาดในกัมพูชาร้อยละ 4.81 เพิ่มขึ้นจากปี 2538 ที่มีส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 2.47 ในปี 2540กรมศุลกากรกัมพูชาได้คาดการณ์ว่าจีนจะสามารถครองตลาดกัมพูชาได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.26
6. ฝรั่งเศส เป็นคู่ค้าอันดับที่หก ในปี 2539 มีส่วนแบ่งตลาดในกัมพูชา ร้อยละ 3.97 เพิ่มขึ้นจากปี 2538 ที่มีส่วนแบ่งตลาด 3.38 ในปี 2540 กรมศุลกากรกัมพูชาได้คาดการณ์ว่าฝรั่งเศสจะครองส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.73
ตารางที่ 3.1 ส่วนแบ่งตลาดของประเทศคู่ค้าที่สำคัญในกัมพูชา ตามมูลค่าการนำเข้า
ประเทศ |
ส่วนแบ่งตลาด (ร้อยละ) |
ปี 2538 |
ปี 2539 |
ปี 2540 (ม.ค. -มิ.ย.) |
สิงคโปร์ |
10.23 |
15.39 |
17.26 |
ไทย |
7.35 |
12.35 |
19.57 |
ญี่ปุ่น |
7.82 |
9.08 |
8.42 |
ไต้หวัน |
1.79 |
6.87 |
8.21 |
จีน |
2.47 |
4.81 |
5.26 |
ฝรั่งเศส |
3.38 |
3.97 |
4.73 |
อื่นๆ |
66.96 |
47.53 |
36.55 |
รวมทั้งหมด |
100.00 |
100.00 |
100.00 |
ที่มา : กรมศุลกากร ประเทศกัมพูชา
ประเทศคู่แข่ง
ในปี 2540 ไทยส่งสินค้าเข้าไปขายยังกัมพูชา มีมูลค่า 9,620.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2539 ร้อยละ 4.7 เมื่อพิจารณาด้านอัตราการขยายตัวของการส่งออก พบว่าการส่งออกของไทยมีแนวโน้มของการเติบโตที่ลดลง โดยในปี 2537 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 44.10 ในปี 2538 เป็นร้อยละ 27.20 ในปี 2539 เป็นร้อยละ 10.40 สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังกัมพูชามากที่สุด ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบ รองลงมา ได้แก่น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ ปูนซีเมนต์ น้ำตาลทราย เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ประเทศคู่แข่งที่สำคัญของสินค้าไทยในตลาดกัมพูชา ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน และฝรั่งเศส เป็นต้น
ข้อได้เปรียบเสียเปรียบ
1. ข้อได้เปรียบของไทย
1) การส่งมอบสินค้าของไทยมีความสะดวกและรวดเร็ว เนื่องจากไทยและกัมพูชามีอาณาเขตติดต่อกันเป็นแนวยาว
2) การชำระค่าสินค้าของไทยกับกัมพูชาสามารถกระทำได้โดยวิธีง่ายๆ โดยชำระค่าสินค้าเป็นเงินบาท เงินเหรียญสหรัฐฯ และทองคำทำให้การซื้อขายสินค้าของไทยมีความคล่องตัวสูงกว่าประเทศคู่แข่ง
3) สินค้าไทยมีคุณภาพดี รูปแบบสวยงาม เป็นที่พอใจของตลาดกัมพูชาเพราะชาวกัมพูชานิยมสินค้าไทยตามการโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ไทย ทำให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากกว่าสินค้าจากประเทศอื่นๆ
4) รัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือด้านที่พักอาศัยแก่ผู้อพยพชาวกัมพูชาส่งผลให้ชาวกัมพูชาคิดว่าไทยเป็นบ้านพี่เมืองน้อง และมีความเชื่อใจไทยในเรื่องไม่คดโกงมากกว่ากับประเทศคู่แข่ง
5) การกระจายสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดกัมพูชาทางด้านชายแดนมีปริมาณมากทำให้สินค้าไทยครองตลาดต่างจังหวัดของกัมพูชาได้มากกว่าประเทศคู่แข่งรวมทั้งผู้นำเข้ารายใหญ่ๆ ของกัมพูชาซึ่งมักจะเป็นหุ้นส่วนกับพ่อค้าไทย ซึ่งจะเป็นผู้นำเข้าสินค้าไทยเข้าไปกระจายต่อให้กับพ่อค้าส่งและพ่อค้าปลีกในตลาดกัมพูชา ทำให้สินค้าไทยสามารถกระจายอยู่ทั่วทุกตลาดในกัมพูชา
6) นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในกัมพูชาเป็นจำนวนมาก ทำให้การสั่งซื้อสินค้าวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมจากไทยมีมากกว่าคู่แข่ง นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งตัวแทนหรือเปิดบริษัทสาขาจำหน่ายสินค้าในกรุงพนมเปญ เพื่อให้ผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกของกัมพูชาเข้ามาเลือกซื้อสินค้าที่ร้านได้ทุกวัน
7) ไทยสามารถอาศัยผู้นำเข้าของกัมพูชาเป็นผู้จำหน่ายสินค้าไทยต่อไปยังประเทศเวียดนามและลาวได้
2. ข้อเสียเปรียบ
1)การขนส่งสินค้าทางเรือ ของไทยมีต้นทุนสูงและใช้ระยะเวลาการเดินเรือนานกว่าประเทศคู่แข่ง รวมทั้งเที่ยวเรือจากไทยไปกัมพูชามีน้อยเที่ยวกว่าคู่แข่ง เช่น สิงคโปร์
2) การซื้อขายสินค้าของไทยกับกัมพูชาจะอาศัยความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันทำให้ไม่มีหลักค้ำประกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาการคดโกงกันได้
3) ต้นทุนการผลิตสินค้าไทยสูง เนื่องจากรัฐบาลไทยมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบในอัตราที่สูง
4) ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยยังไม่ให้ความสนใจตลาดกัมพูชาอย่างจริงจัง โดยผู้ผลิตสินค้ายังคงปล่อยให้นายหน้าเป็นผู้ส่งสินค้าของตนเข้าไปจำหน่ายในกัมพูชา ซึ่งบางครั้งนายหน้าชาวต่างชาติจะติดยี่ห้อสินค้าเป็นของประเทศตนเอง ทำให้ผู้บริโภคชาวกัมพูชาเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสินค้าของประเทศอื่น
5) ปัญหาการสู้รบภายในประเทศกัมพูชา ทำให้รัฐบาลไทยงดการออก วีซ่าให้ชาวกัมพูชาที่จะเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ผู้นำเข้าของกัมพูชาหันไปซื้อสินค้าจากประเทศคู่แข่งแทน นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชายังมีน้อย
6) ประเทศคู่แข่ง เช่น สิงคโปร์ จะเข้าไปร่วมมือทางการค้ากับรัฐบาลกัมพูชา และอาศัยรัฐบาลเป็นผู้กระจายสินค้าไปยังหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐส่งผลให้สินค้าไทยไม่สามารถเข้าไปขายให้กับหน่วยงานราชการของกัมพูชาได้
7) ประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม ได้เข้ามาอบรมและสอนภาษาให้กับชาวกัมพูชา ส่งผลให้การติดต่อค้าขายระหว่างเวียดนามกับกัมพูชาทำได้ดีกว่าไทย เนื่องจากมีความเข้าใจในภาษาซึ่งกันและกัน
ปัญหาและอุปสรรค
การส่งออกของไทยไปยังกัมพูชาในปัจจุบันพบว่า ผู้ส่งออกไทยมีปัญหาและอุปสรรคในการส่งสินค้าไปตลาดกัมพูชา โดยปัญหาเหล่านี้เกิดจากปัจจัยภายในประเทศไทยเองและปัญหาที่เกิดจากข้อจำกัดต่างๆ ภายในประเทศกัมพูชา ทั้งนี้ปัญหาที่สำคัญๆ เรียงตามลำดับ ดังนี้
1. กัมพูชาไม่มีความมั่นคงทางการเมือง มีการสู้รบเพื่อแย่งชิงอำนาจการปกครองภายในประเทศ ทำให้กฏระเบียบ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง และบางพื้นที่จะมีกฏระเบียบเป็นของตัวเอง โดยที่พื้นที่เหล่านั้นเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงสูงในการค้าขาย
2. ขั้นตอนและระเบียบการส่งออกของไทย มีระเบียบขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนและมีเอกสารประกอบมาก ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งการขอคืนภาษีอากรล่าช้า ทั้งภาษีตามมาตรา 19 ทวิ เงินชดเชย ภาษีมุมน้ำเงิน ซึ่งการขอคืนภาษีเหล่านี้จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน ทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องของเงินทุนหมุนเวียน
3. ปัญหาเรื่องค่าเงินเรียลซึ่งเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้ในกัมพูชาขาดเสถียรภาพทำให้การซื้อขายสินค้าจะไม่สามารถรับการชำระค่าสินค้าเป็นเงินสกุลดังกล่าวได้ ส่วนใหญ่จะรับชำระค่าสินค้าเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ และเงินบาทของไทย หรือบางครั้งต้องรับชำระเป็นทองคำแทน
4. เส้นทางการขนส่งจากชายแดนไทยไปยังกรุงพนมเปญ มีกลุ่มอิทธิพลต่างๆ คุมเส้นทางอยู่ทำให้การขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางดังกล่าวจะต้องเสียค่าผ่านทางให้กับกลุ่มต่างๆ ที่มีประมาณกว่า 100 ด่าน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าสูงขึ้นกว่าปกติ
5. ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปศึกษาวิจัยทางด้านการตลาดของประเทศกัมพูชาอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ส่งออกไม่ทราบถึงรสนิยม และความต้องการของผู้บริโภค ข้อบังคับ กฎหมายและขั้นตอนวิธีการทำการค้า ภาวะการแข่งขันของตลาด ช่องทางการจัดจำหน่ายและรายชื่อผู้นำเข้า รวมไปถึงกลยุทธ์ที่ใช้ในการแข่งขันในตลาดกัมพูชา ทำให้ผู้ส่งออกรายใหม่ไม่สามารถเข้าถึงตลาดกัมพูชาได้
6. การค้าระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้ากัมพูชาบริเวณชายแดน ส่วนใหญ่เป็นการทำการค้าที่ไม่มีการทำสัญญา ส่งผลให้ผู้ส่งออกของไทยถูกโกงจากผู้นำเข้ากัมพูชาบ่อยครั้ง
7. ปัญหาเรื่องระเบียบและขั้นตอนการนำเข้าสินค้าในกัมพูชาที่ยุ่งยากโดยสินค้าที่จะนำเข้ากัมพูชาต้องผ่านการตรวจสอบจากบริษัท SGS ที่กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาตั้งขึ้นมา เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้าและทำการประเมินพิกัดศุลกากร ถ้าสินค้าใดไม่ผ่านการตรวจสอบจะไม่สามารถส่งเข้าไปขายในตลาดกัมพูชาได้
8. การขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญด้านการส่งออกของ ผู้ประกอบการของไทย
9. ปัญหาค่าจ้างแรงงานมีการปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของไทยสูงทำให้ศักยภาพในการแข่งขันในตลาดกัมพูชาลดลง
10. ไทยเป็นประเทศที่จัดว่ามีการจัดเก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เครื่องจักรและชิ้นส่วนในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่ง ทำให้ไทยมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าคู่แข่ง
แนวทางแก้ไข
จากการรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ส่งออกไทย ในด้านความต้องการการช่วยเหลือจากภาครัฐของไทย สามารถสรุปได้ ดังนี้
1. ลดขั้นตอนและระเบียบการส่งออกเดิมที่มีการกำหนดไว้ว่า การค้าชายแดนจะต้องมีมูลค่าการส่งออกไม่เกิน 500,000 บาท โดยปรับให้กฎเกณฑ์เหล่านี้สามารถสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งออก
2. ควรปรับปรุงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนำเข้าตามมาตรา 19 ทวิ และภาษี มุมน้ำเงินให้เร็วขึ้น เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกของไทย สามารถขยายการส่งออกไปสู่ตลาดการค้าได้มากขึ้น
3. สนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ศึกษาวิจัยข้อมูลทางการตลาดของประเทศกัมพูชาทั้งแนวลึกและแนวกว้าง เช่น ภาวการณ์แข่งขันของสินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาดกัมพูชา ลู่ทางการค้า ช่องทางการจัดจำหน่าย รวมไปถึงรายชื่อผู้นำเข้ารายใหญ่ของกัมพูชา เพื่อให้ผู้ส่งออกของไทยได้ใช้เป็นช่องทางในการส่งออก
4. ลดอัตราภาษีนำเข้า วัตถุดิบ เครื่องจักรกล และชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกให้เป็นไปตามข้อตกลงของอาฟต้า เพื่อให้ราคาสินค้าของไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้
5. ปรับปรุงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้บริการได้อย่างสม่ำเสมอ และครอบคลุมเขตอุตสาหกรรมต่างๆ และควรมีการลดราคาอัตราค่าบริการด้านการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศลง
6. ควรควบคุมราคาค่าบริการในการขนส่งต่างๆ และให้มีการเปิดเสรีของการให้บริการท่าเรือ เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและค่าบริการ
7. จัดหาแหล่งเงินทุนระยะยาว และดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ส่งออก โดยเฉพาะกับผู้ส่งออกขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีสภาพคล่องต่ำ
8. ควรมีความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ในด้านการหามาตรการป้องกันการแก้ไขการคดโกงของผู้นำเข้ากัมพูชา
แนวทางการส่งเสริมการค้า
จากปัญหาของผู้ส่งออกไทย ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ส่งออกไทยในการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ดังกล่าวนั้น สามารถสรุปแนวทางในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกไปยังตลาดกัมพูชา และแนวทางในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดกัมพูชา ดังนี้
1. ควรส่งเสริมให้มีการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยเป็นผู้นำในตลาดกัมพูชา นอกจากนี้ยังเป็นสินค้าที่ตลาดกัมพูชา มีความต้องการอย่างมาก ส่วนสินค้าวัสดุก่อสร้างและสินค้าเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร ควรมีการตั้งตัวแทนจำหน่ายในประเทศกัมพูชา เนื่องจากตลาดกัมพูชามีความต้องการสินค้ากลุ่มนี้อย่างมาก
2. ควรส่งเสริมให้มีการเข้าไปลงทุนในด้านอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมเหมืองแร่ การบริการและการท่องเที่ยวในกัมพูชาให้มากขึ้น
3. ควรเพิ่มความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นของไทยและกัมพูชาตามแนว ชายแดนให้มากขึ้น เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบการนำเข้าสินค้าและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ค้าท้องถิ่นของไทยและกัมพูชา
4. จัดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาดและการค้าโดยให้มีการเชิญผู้นำเข้าของกัมพูชาเข้ามาเยี่ยมชมกิจการหรือร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศไทยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการค้าของประเทศทั้งสอง
5. ขอความร่วมมือกับสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญช่วยกระตุ้นให้มีการเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาผลสรุปร่วมกันในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นของผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้ากัมพูชาเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งควรปรับปรุงและสร้างภาพพจน์ของไทยให้เป็นที่น่าเชื่อถือในสายตาของผู้นำเข้ากัมพูชา
6. ส่งเสริมให้มีการรวบรวมจัดเก็บข้อมูลของตลาดกัมพูชาให้ถูกต้องและมีการเปลี่ยน-แปลงข้อมูลให้มีความทันสมัยและครบถ้วน รวมไปถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ ทันสมัยให้กับผู้ส่งออก ได้แก่
- รายละเอียดของผู้นำเข้าในกัมพูชา
- ข้อมูลสถิติการนำเข้าและส่งออกที่สำคัญของไทยและกัมพูชา
- สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกสู่ตลาดกัมพูชา
- รูปแบบความต้องการของสินค้าในตลาดกัมพูชา
7. รัฐควรหามาตรการควบคุมสินค้าไทยที่ส่งออกไปขายในกัมพูชา แล้วผู้นำเข้ากัมพูชาส่งกลับเข้ามาขายบริเวณชายแดนไทย ทำให้สินค้าเข้ามาแข่งขันกันเองตามแนวชายแดนไทย โดยรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาควรร่วมมือกันในการหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว